7 ข้อกำหนด มาตรฐาน การติดตั้ง ไฟฉุกเฉิน (Emergency Light)

ไฟฉุกเฉินเป็นระบบแสงสว่างที่จะทำงานเมื่อระบบไฟฟ้าตามปกติถูกตัด หรือดับไปอันเนื่องมาจากสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างการเกิดเพลิงไหม้ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ภายในอาคารสามารถมองเห็นและจัดการสถานการณ์ตรงหน้าให้ดีและปลอดภัยมากขึ้น นับเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการกำหนดเป็นมาตรฐานของอุปกรณ์ และวิธีการติดตั้ง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งาน ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทุกคนที่อยู่ภายในอาคาร ทางร้านไทยจราจรขอชี้แจงรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ ดังต่อไปนี้

 

1.การเตรียมการก่อนติดตั้ง ความปลอดภัยจากแสงสว่างฉุกเฉินจะเกิดขึ้นได้เมื่อได้รับความร่วมมือจากเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารสถานที่ต่าง ๆ เพื่อความพร้อมที่มีประสิทธิภาพและตรงตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ควรเราตั้งแต่การเตรียมแผนผังอาคาร ที่มีรายละเอียดทั้งทางหนีภัย อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับดับเพลิง ตัวอย่างเช่น จุดติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือน อุปกรณ์สำหรับผจญเพลิง อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์สำหรับปฐมพยาบาล และตำแหน่งสิ่งของอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรืออย่างอื่นที่อาจกีดขวางทางหนีภัย และแผนผังยังช่วยให้กำหนดจำนวนของแสงสว่างและตำแหน่งการติดตั้งที่เหมาะสมและเพียงพอได้อีกด้วย

 

2.ระดับแสงสว่างที่จำเป็น การให้แสงสว่างในภาวะฉุกเฉินอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่แสงสว่างเพื่อการหนีภัย แสงสว่างประเภทนี้สามารถทำงานได้แม้ว่าระบบจ่ายไฟฟ้าปกติยังทำงานได้อยู่ แต่จะทำงานแม้ระบบจ่ายไฟฟ้าปกติจะล้มเหลวเพียงบางส่วนที่อาจนำไปสู่อันตรายได้ ตัวอย่างเช่นไฟฉุกเฉินบริเวณทางหนีภัย หรือในบริเวณพื้นที่ที่ต้องการแสงสว่างเพื่อการทำงาน ติดตั้งเพื่อให้เห็นทางหนีภัยที่ชัดเจน สามารถอพยพหนีภัยได้อย่างปลอดภัย หรือสามารถมองเห็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการจัดการเหตุฉุกเฉินได้อย่างชัดเจน หรือเพื่อให้เห็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลได้ชัดเจน แสงสว่างอีกประเภทคือแสงสว่างสำรอง วัตถุประสงค์ในการติดตั้งเพื่อพื้นที่ที่ต้องดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง แม้ว่าระบบจ่ายไฟฟ้าปกติจะล้มเหลว และในบางกรณีแสงสว่างสำรองควรเทียบเท่าแสงสว่างตามปกติ เป็นต้น กรณีแสงสว่างเพื่อทางหนีไฟ ความสว่างบริเวณพื้นที่โล่งภายในอาคาร ระดับความสว่างฉุกเฉิน วัดในบริเวณพื้นห้องต้องมีความเข้มไม่น้อยกว่า 0.5 ลักซ์ กรณีทางหนีภัยที่มีความกว้างของเส้นทางไม่เกิน 2 เมตร ระดับความสว่างระดับพื้นบริเวณกึ่งกลางของทางหนีภัย ต้องไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์ พื้นที่งานที่มีความเสี่ยงสูง ความสว่างของอุปกรณ์ฉุกเฉินต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของระดับแสงสว่างปกติ และต้องไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์ พื้นที่เตรียมการหนีภัยอย่างจุดรวมพล ความสว่าง ต้องไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์ พื้นที่เก็บอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์แจ้งเหตุ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ความสว่างในแนวระนาบดิ่งต้องไม่น้อยกว่า 5 ลักซ์ ตำแหน่งของโคมไฟติดตั้งไม่เกิน 2 เมตร จากจุดเก็บอุปกรณ์

 

3.ตำแหน่งติดตั้งระบบแสงสว่างสำรอง โคมไฟแสงสว่างฉุกเฉินต้องติดตั้งบริเวณเส้นทางหนีภัย ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 2 เมตร ตำแหน่งที่ติดตั้งต้องไม่กีดขวางเส้นทางอพยพออกจากอาคาร และไม่มีสิ่งใดวางกีดขวางแสงสว่างด้วย

 

4.ระบบการเดินสายและการทำงานของวงจรไฟฟ้า วงจรไฟฟ้าที่จ่ายให้กับไฟฉุกเฉิน ในกรณีที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารพาณิชย์ต้องแยกระบบไฟฟ้าให้อิสระจากอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ สายไฟฟ้าที่ใช้สำหรับแสงสว่างฉุกเฉิน ต้องเป็นสายทนไฟ มีการป้องกันความเสียหายทางกายภาพอย่างอุปกรณ์ครอบสายไฟที่สามารถทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ขนาดของสายไฟควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 2.5 ตารางมิลลิเมตร และแรงดันไฟตกได้ไม่เกินร้อยละ 5 สวิตช์สำหรับระบบแสงสว่างฉุกเฉินควรติดตั้งในจุดที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือมีอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้กดเล่น ๆ สวิตช์ต้องมีพิกัดไม่น้อยกว่า 2 เท่าของกระแสในวงจร และไม่มากกว่า 32 แอมแปร์

 

5.ระยะเวลาในการให้แสงสว่าง แสงสว่างฉุกเฉินที่ดีควรให้ความสว่างทันทีที่ไฟฟ้าปกติดับ หรือภายใน 0.5 วินาที และสามารถให้แสงสว่างต่อเนื่องต่อไปได้อีก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แสงสว่างที่ให้ต้องมีลักษณะสม่ำเสมอไม่กระพริบ

 

6.พื้นที่ที่จำเป็นต้องติดตั้ง ตำแหน่งติดตั้งที่จำเป็น ได้แก่ เส้นทางหนีภัย และทางออกจากอาคาร บริเวณทางแยก โดยห่างจากทางแยกไม่เกิน 2 เมตร บริเวณทางเลี้ยว ติดตั้งห่างจากทางเลี้ยวไม่เกิน 2 เมตร บริเวณที่พื้นมีหลายส่วน ให้ติดตั้งแสงสว่างฉุกเฉินระยะห่างไม่เกิน 2 เมตร บันได ให้ติดตั้งแสงสว่างฉุกเฉินที่ให้ความสว่างถึงขั้นบันไดทุกขั้น พื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ระงับเหตุฉุกเฉินต้องมีแสงสว่างฉุกเฉินทุกจุด เช่นเดียวกับพื้นปฏิบัติงานอันตรายและบริเวณที่จัดเก็บอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า ส่วนในกรณีห้องน้ำต้องติดตั้งเมื่อมีพื้นที่มากกว่า 8 ตารางเมตร รวมทั้งห้องน้ำสำหรับผู้พิการด้วย

 

7.การตรวจสอบและการดูแลรักษา ระบบไฟฟ้าของไฟฉุกเฉินต้องได้รับการตรวจสอบและทดสอบ โดยจำลองสถานการณ์กรณีการจ่ายไฟฟ้าตามปกติล้มเหลว ระบบแสงสว่างฉุกเฉินต้องทำงานทันทีและยาวนานไม่น้อยกว่า 120 นาที การตรวจสอบควรทำอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และหากพบความผิดปกติควรแก้ไขทันที

ทางร้านไทยจราจรเชื่อมั่นว่าหากผู้เลือกใช้ระบบแสงสว่างฉุกเฉินคำนึงถึงมาตรฐาน และข้อกำหนดที่กฎหมายควบคุมแล้ว อีกทั้งยังมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอตามความจำเป็น ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้คนที่อยู่ภายในอาคารและสถานที่นั้นมีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังสามารถระงับเหตุภัยต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึงได้อย่างทันท่วงที ลดค่าเสียหายที่จะเกิดจากการสูญเสียทั้งสิ่งของ อาคารและทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงเสมอว่าเหตุฉุกเฉินนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น