แจกบทความฟรี
เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย กับอุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector
หนึ่งในอุปกรณ์ช่วยเตือนเรื่องความปลอดภัยให้กับ smart home ที่พักอาศัย หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ อุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ Smoke Detector อุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณ อาจเป็นสัญญาณไฟหรือเสียงก็ได้ เพื่อเตือนภัยเมื่อมีควันเกิดขึ้น ทำให้หลีกเลี่ยงไฟไหม้ หรือเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ๆ ได้
ผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมอาจคุ้นเคยกับ Smoke Detector มากกว่าใคร เพราะภายในห้องพักอาศัยจะมีอุปกรณ์นี้ติดตั้งอยู่บนฝ้าเพดาน มีลักษณะเป็นชิ้นพลาสติกรูปร่างกลมแบน อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงานที่มีขนาดพื้นที่ทั้งหมดเกินว่า 2,000 ตร.ม. หรืออาคารที่มีความสูงเกิน 23 เมตร จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยทั้งระบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คืออุปกรณ์ตรวจจับควันนั่นเอง ส่วนสถานที่อื่น ๆ การติดตั้งเป็นทางเลือกที่ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น แต่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับ
มีหลายคนสงสัยว่าเครื่องตรวจจับควันกับเครื่องตรวจจับความร้อน เหมือนกันหรือไม่ ก็ต้องขอตอบว่าไม่เหมือนกัน เครื่องตรวจจับควันมีวิธีการทำงานในการเตือนเมื่อมีควันลอยเข้าไปในตัวเครื่องก็จะส่งสัญญาณเตือนออกมา ในขณะที่เครื่องตรวจจับความร้อนมีวิธีการทำงานด้วยการส่งสัญญาณเตือนเมื่อดักจับความร้อน ดังนั้นทั้งสองอุปกรณ์นี้จึงเป็นเครื่องเตือนเรื่องความปลอดภัยที่ต่างกัน สถานที่สำหรับติดตั้ง Smoke Detector หรือ Heat Detector ก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสม อย่าง Smoke Detector ควรติดตั้งที่พื้นที่ปกติที่ไม่ค่อยเกิดควัน อย่างห้องครัวไม่ควรติดอุปกรณ์จับควัน เพราะไม่เช่นนั้นเครื่องก็ส่งสัญญาณเตือนได้ตลอดเวลา
ยังมีหลายคนที่สงสัยอีกว่าหาก Smoke Detector ตรวจจับควันและส่งสัญญาณแล้วนั้น เครื่อง Sprinkle จะทำงานทันทีหรือไม่ ข้อนี้ต้องตอบว่า ไม่ เพราะเครื่อง Sprinkle จะถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับเครื่องดักจับความร้อนมากกว่า
มีคำถามว่า ติดตั้งเครื่องจับความร้อนไปเลย ทำงานคู่กับ sprinkle แล้วไม่ต้องติดตั้ง smoke detector ก็น่าจะเพียงพอ คำตอบสำหรับคำถามนี้ต้องย้อนกลับไปดูข่าวอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เมื่อตรวจสอบสถานที่หลังเกิดเหตุพบว่า ระบบเครื่องจับความร้อนยังทำงานได้ปกติก็จริง แต่ต้องอาศัยความร้อนที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง คือ 65 องศาเซลเซียส ทำให้ไม่ตรวจจับในที่เกิดเหตุที่ตอนแรกมีเพียงแค่เปลวไฟเล็กน้อยแต่มีควันไฟเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีการติดตั้ง Smoke Detector ไว้ด้วย เครื่องจะส่งสัญญาณเตือนทำให้แก้ไขสถานการณ์หรือลดโอกาสที่จะสูญเสียได้มากกว่านี้
สำหรับการทำงานของ Smoke Detector นั้น อุปกรณ์เมื่อตรวจจับเจอควันก็จะส่งไปเตือนที่ส่วนกลาง (หรือนิติบุคคลของคอนโด) ส่วนกลางก็จะมาหาตรงจุดนั้นว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่อไป กรณีที่มีการเตือนเข้าไปที่ส่วนกลางแล้ว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ ไม่ได้ปิดสัญญาณที่ส่วนกลาง ก็จะมีการส่งสัญญาณเตือนจากตัวอุปกรณ์อื่น ๆ
ข้อดีของ Smoke Detector ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ราคาต่อชิ้นไม่สูง แต่งบประมาณของการติดตั้งทั้งหมดขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ต้องการให้ครอบคลุมในการติดตั้ง อุปกรณ์นี้สามารถเตือนภัยก่อนเกิดเหตุไฟไหม้ได้จริง เพราะก่อนไฟไหม้จะมีควันเกิดขึ้นก่อน เมื่อมีสัญญาณเตือนก่อนก็มีโอกาสระงับเหตุได้ทันท่วงที ดังนั้นหากจะคิดถึงความคุ้มค่าก็ต้องบอกเลยว่าคุ้มหากเทียบกับความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุที่ไม่มีสัญญาณเตือนภัยก่อน
เหตุผลที่เราติดตั้งเครื่องจับควันไว้บนเพดานก็เนื่องจากควันลอยจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูงเสมอ ปกติจะติดไว้บนเพดานสูงไม่เกิน 10 เมตร โดยเครื่องมี 2 แบบ คือ
- Photoelectric ส่งสัญญาณเตือนเมื่อความเข้มของแสงลดลง โดยเมื่อมีควัน ไอน้ำ หรือ ฝุ่นบดบังแสง เครื่องจะทำงานทันที
- อีกแบบคือ ionization เป็นแบบที่ไวต่อควันไฟจากการเผาไหม้เท่านั้น เพราะภายในถูกออกแบบมามีแผ่นโลหะ และสาร Radioactive ที่เมื่อทำปฏิกิริยากับควันที่เข้าไปถึงตัวเครื่อง ทำให้กระแสไฟฟ้าภายในลดลง เครื่องก็จะส่งสัญญาณเตือน โดยเครื่องนี้จะไม่ทำงานเมื่อจับควันจากหม้อหุงต้ม เครื่องนี้อาจส่งสัญญาณผิดพลาดได้ถ้ามีแมลงหรือฝุ่นเข้าไปในตัวเครื่อง
หลายคนที่อาศัยในคอนโดมีนิติบุคคลเดินมาเตือนบ่อย ๆ เรื่องสัญญาณเตือนจับควัน เพราะมีการติดตั้งเครื่องแบบ Photoelectric ที่ส่งสัญญาณเตือนเวลาเรารีดผ้าแบบไอน้ำ ตั้งหม้อกินสุกี้ หรือหุงข้าวทำอาหาร แต่ถ้าเป็นแบบ ionization จะไม่มีการเตือนบ่อย ยกเว้นว่าจับเจอกับควันจากการเผาไหม้เท่านั้น วิธีแก้ไขไม่ให้เครื่องส่งสัญญาณบ่อย ๆ ก็คือ ให้ติดพัดลมระบายอากาศเวลาทำอาหาร เปิดหน้าต่างให้มีลมถ่ายเท หรือใช้ถุงพลาสติกครอบอุปกรณ์ไว้ในขณะที่ประกอบอาหาร ฯลฯ
มีสถิติที่น่าสนใจจากสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ ที่ระบุว่า 38% ของการเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสาเหตุไฟไหม้อาคารนั้นเป็นกรณีที่ไม่มีการติดตั้ง Smoke Detector นั่นหมายความว่าหากมีการติดตั้งก็จะลดโอกาสการเกิดเพลิงไหม้ไปได้อีกมาก อีกสถิติก็คือ อาคารที่เกิดเหตุไฟไหม้ มี 21% ที่แม้ว่าจะมีการติดตั้ง Smoke Detector แต่ถึงเวลาแล้วอุปกรณ์ไม่ทำงาน สถิตินี้เป็นตัวบอกเลยว่าการติดตั้งเครื่องจับควันนั้นมีความสำคัญมากเพียงใด และที่สำคัญกว่านั้นก็คือต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อให้ใช้งานได้จริงเวลามีเหตุ
ประเภทของเครื่องจับควัน หรือ Smoke Detector
- แบบปกติ vs แบบไร้สาย แบบปกติคือการติดตั้งที่มีสายไฟและสายสัญญาณเชื่อมโยง ซึ่งต้องระวังบำรุงรักษาให้การเชื่อมต่อสายต่าง ๆ ไม่หลวมหรือหลุด ส่วนแบบไร้สายคือแบบที่ควบคุมการทำงานด้วย smart phone ผ่านแอปพลิเคชัน เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย เหมาะกับการใช้งานของคนรุ่นใหม่ เพราะสะดวกมีการแจ้งเตือนตรงเข้ามือถือ บ้าน smart home สมัยใหม่นิยมติดตั้งอุปกรณ์แบบนี้กันมากขึ้น
- แบบใช้ไฟบ้าน vs แบบใช้แบตเตอรี่ ซึ่ง 2 แบบนี้มีข้อดีข้อเสียต่างกัน แบบใช้ไฟบ้านไม่ต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมด ส่วนแบบใช้แบตเตอรี่ใช้งานได้ต่อเนื่องแม้ไฟดับ แต่ต้องระวังคอยตรวจสอบไม่ให้แบตหมด และสิ้นเปลืองกว่า การเลือกใช้ให้คำนึงให้เหมาะกับลักษณะการใช้งาน
วิธีการเลือก ติดตั้ง และดูแลรักษา Smoke Detector ให้ปลอดภัยในการใช้งาน มีดังนี้
- ผ่านการรับรองมาตรฐานว่าเป็นอุปกรณ์เตือนภัยที่ได้คุณภาพ
- มีระบบแจ้งเตือนการเชื่อมต่อ และแจ้งเตือนเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด
- สามารถแยกแยะชนิดของควันได้ เพื่อส่งสัญญาณเตือนเรื่องความปลอดภัยได้จริง ๆ
- มีระบบตรวจก๊าซอันตรายอื่น ๆ หาก Smoke Detector มี option ในการตรวจจับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์หรือก๊าซอันตรายอื่น ๆ เพื่อเตือนภัยได้ด้วย อันนี้ถือว่ายิ่งดี
- มีระบบป้องกันฝุ่นและแมลง
- มีระบบป้องกันการรบกวนของคลื่นวิทยุ
มีหลักในการติดตั้ง Smoke Detector อยู่ที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เครื่องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ไม่ติดตั้งที่ระดับความสูงเกินกว่า 10.5 เมตร
- หากติดตั้งหลายเครื่อง ให้ระยะห่างระหว่างแต่ละเครื่อง ไม่เกิน 9 เมตร
- ติดตั้งห่างจากผนังไม่เกิน 5 เมตร และ ไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร
การติดตั้งเครื่องจับควันไม่ใช่ว่าติดตั้งแล้วก็แล้วกัน ต้องมีการตรวจสอบว่าอุปกรณ์พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ถ้าเป็นอาศัยในคอนโดจะคุ้นเคยกับที่มีช่างนัดเพื่อขอเข้าตรวจอุปกรณ์นี้ทุกปีหรือทุก 2 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องใช้งานอยู่จริง สายไม่หลวม ตัวเครื่องไม่เสื่อม แบตเตอรี่ยังใช้งานได้ปกติ เป็นต้น
มีสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยงในการติดตั้ง Smoke Detector ซึ่งก็คือ
- ห้องครัว ห้องครัวเป็นห้องที่ใช้ประกอบอาหารซึ่งต้องมีควันจากการประกอบอาหารอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ติดตั้งเครื่องจับควันที่ห้องครัว
- ที่จอดรถ / โรงรถ เมื่อขับรถเข้าออกโรงรถจะมีควันจากท่อไอเสียเป็นประจำ จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ติดตั้งเครื่องจับควันที่โรงรถเช่นกัน
- สถานที่อื่น ๆ ที่มีความชื้น มีฝุ่น หรือมีควันที่ไม่ได้เกิดเพลิงไหม้ในปริมาณมากเป็นปกติ
เหตุเพลิงไหม้แน่นอนว่าไม่มีอยากให้เกิด และเมื่อเกิดขึ้นแล้วความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มันมากมายเกินกว่าคำนวณมูลค่าได้ การติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อเตือนภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม หรือมองว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง Smart Traffic & Safety เราตระหนักในเรื่องนี้ดี จึงขอนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการระบบเตือนภัยอัจฉริยะที่พร้อมตอบสนองต่อ smart home ยุคใหม่ ให้ใช้งานได้สะดวก สามารถเชื่อมต่อ แจ้งเตือนได้ทันท่วงที เพิ่มความปลอดภัยในกับทุกชีวิตในบ้านของคุณ